Skip to main content
“ ผมฝันว่าอยากมีบ้านเล็กๆสักหลังครับ เราจากบ้านมาเพื่อหวังจะสร้างบ้านเป็นของเราเองครับ พอมามีโควิดก็ทำให้ความฝันและความหวังของพวกเราแกว่งพอสมควรเลยครับ ตอนนี้ผมกับแฟนและเพื่อนๆที่โรงงานลำบากกันมากเลยครับ” คำพูนเด็กหนุ่มแรงงานข้ามชาติจากประเทศลาวถ่ายทอดความรู้สึกของเขาที่ต้องได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เราฟัง . “จากที่เราเคยทำงาน อาทิตย์ละ 6 วัน ได้ค่าจ้างวันละ350 บาท และมีโอทีให้ทำ ได้ค่าจ้างเพิ่มอีกวันละ 100-150 บาท ซึ่งสำหรับเราแล้วเงินค่าจ้างจำนวนนี้มันเป็นเงินที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผมและครอบครัวเลยนะครับ แต่พอมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ทำให้สถานการณ์ของพวกเราแย่มากเลยครับ พวกผมถูกลดเวลาทำงานเหลืออาทิตย์ละ 3 วัน บางอาทิตย์เหลือแค่ 2 วัน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายพวกเรายังเท่าเดิมเลยครับ” คำพูนระบุ . “ปกติผมกับแฟนต้องส่งเงินให้ลูกและแม่ที่อยู่ลาวเดือนละ10,000 บาท เพื่อจ่ายหนี้ที่กู้มาสร้างบ้าน 7,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายลูกอีก 3,000 บาท ตอนนี้ผมส่งให้ได้เดือนละ 2,000 บาท เท่านั้น ต้องให้แม่ไปหยิบยืมคนอื่นมาจ่ายหนี้ธนาคารก่อน ผมหวังว่าโควิดจะหายไปคำพูนที ผมจะได้ไม่ต้องให้แม่ต้องเดือดร้อนอย่างนี้” คำพูนกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาและครอบครัวตอนนี้ด้วยความอัดอั้น . คำพูนและภรรยา เดินทางมาจากแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว เพื่อมาทำงานที่โรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง ย่านพระราม 2 ทั้งคู่ทำงานที่โรงงานนี้เป็นเวลากว่า 10ปี แล้ว พวกเขาหอบหิ้วทั้งความหวังและความฝันที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คำพูนบอกกับเราว่าเขาจะต้องมีบ้านเป็นของตัวเองและเงินทุนอีกคำพูนก้อนเพื่อที่จะได้กลับถิ่นฐานบ้านเกิด ไปอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว ก่อนที่เขาจะอายุครบ 40 ปี . “ผมตั้งใจไว้ว่าอีก 2 ปี ผมจะใช้หนี้เงินกู้ที่สร้างบ้านหมด และมีเงินเก็บอีกสัก 200,000 บาท ไว้เป็นทุนสร้างเนื้อสร้างตัว ผมกับแฟนจะได้กลับไปอยู่บ้านอย่างถาวร ผมฝันอยากเปิดร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่เหมือนว่า 2 ปีคงเป็นไปไม่ได้แล้วครับพี่ ผมคงต้องอยู่ที่นี่นานขึ้นอีกหลายปี ” คำพูนเล่าถึงแผนที่หลุดจากแพลนแผนที่เขาและภรรยาได้ตั้งเป้าหมายไว้ . “ตอนนี้พวกเราต้องช่วยกันประหยัดค่าใช้จ่ายมากๆ โชคดีว่าช่วงที่โควิดยังไม่รุนแรง โรงงานยังเปิดปกติ เราพอมีเงินอยู่บ้าง เลยซื้อของกิน ของใช้มาตุนไว้พอสมควร ตอนนี้ก็กินไข่ กินปลากระป๋องไปก่อน จะทำอย่างไรได้ เมื่องานไม่มี เงินก็ไม่มี ก็ต้องกินเท่าที่กินได้อะพี่ ไม่มีใครช่วยเราเราก็ต้องพึ่งตัวเองก่อน” คำพูนระบุ . คำพูนและภรรยา เป็นแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานที่ไทยอย่างถูกกฎหมาย และเป็นลูกจ้างแรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบกองทุนประกันสังคม ของไทยมาตั้งแต่เขาเริ่มทำงาน เขาส่งเงินให้กองทุนประกันสังคม ไม่ต่างจากแรงงานชาวไทย เมื่อเราถามถึงสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดในช่วงนี้ นอกจากที่เขาอยากได้ทำงานเหมือนในห้วงเวลาปกติแล้ว เขายังอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาเหลียวแล กลุ่มแรงงานอย่างเขาบ้าง . “ผมอยากให้ประกันสังคมช่วยพวกเราบ้าง พวกผมไม่เข้าข่ายที่ประกันสังคมช่วยเยียวยา เพราะโรงงานไม่ได้ปิดกิจการ พวกผมไม่ได้ถูกเลิกจ้าง แต่ถูกลดวันทำงาน บางทีก็น้อยใจ ผมส่งเงินให้ประกันสังคมทุกเดือน เดือนละเกือบ 500บาท แต่สถานการณ์นี้ประกันสังคมไม่ช่วยอะไรพวกเราเลย” คำพูนระบุ . แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ถูกสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราวหรือต้องหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 เป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าพวกเขายังไม่ใช่เหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ ทั้งๆที่ความจริงแล้วการที่ถูกลดจำนวนวันทำงานมันหมายถึงการลดค่าแรงลงมากกว่า 70-80 % ของรายได้ จากที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดกลายมาเป็นรายได้ที่แทบจะชักหน้าไม่ถึงหลัง . แม้ลูกจ้างจะได้ประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมในเรื่องเงินสมทบฝ่ายลูกจ้างที่ลดลงไปเหลือ 1 % แต่เงินสมทบฝ่ายนายจ้างก็ยังสูงถึง 4 % ทำให้นายจ้างยังต้องแบกรับภาระเงินสมทบในภาวะวิกฤตินี้อยู่มาก ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนที่มีความจำเป็นต้องลดชั่วโมงการทำงานรายได้ลดลงกว่า 70-80 % ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรสำนักงานประกันสังคมควรจะได้พิจารณาให้มีมาตรการช่วยเหลือตามสัดส่วน เช่น พักชำระเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง กรณีที่ต้องลดชั่วโมงการทำงาน เป็นต้น . เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเสนอให้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานพิจารณามาตรการการพยุงการจ้างงานอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบการลดภาระค่าใช้จ่ายในบางส่วนลง เช่น การพักชำระเงินสมทบประกันสังคม การลดค่าใช้จ่ายในการต่อใบอนุญาตทำงาน การลดค่าใช้เรื่องในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาให้แก่สถานประกอบการ หรือการช่วยเหลือในรูปแบบกองทุนสนับสนุนการจ้าง รวมทั้งการมีแผนการที่ชัดเจนในการฟื้นฟูการประกอบกิจการเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มั่นคงต่อไป