Skip to main content
“หนูขายทองที่เก็บไว้ไปทีละชิ้นๆจนตอนนี้เหลือแต่แหวนและต่างหูทองเล็กๆนี่เองค่ะ เป็นทองคำพม่ามันไม่มีราคาเหมือนทองของไทยค่ะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเก็บไว้ได้อีกนานเท่าไร ตั้งแต่โควิดมาไม่มีใครจ้างสามีทำงานเลยสักคน เราไม่มีเงินกันเลยค่ะเลยเอาทองไปขายค่ะ ได้เงินมาแล้วคิดว่าน่าจะอยู่ได้อีกสัก 2 เดือนค่ะ แต่ถ้าหลังจากนี้แล้วไม่มีใครจ้างงานอีกคงจะอยู่ไม่ได้แล้วค่ะ” ตาลหญิงสาวชาวเมียนมาบอกเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ของเธอและครอบครัวในขณะนี้ . “หนูกับสามีมีพาสปอร์ตค่ะและเมื่อก่อนเราก็ทำงานทั้ง 2 คนเลยค่ะ ก็เลยทำให้เก็บเงินได้บ้าง ต่อมาหนูท้องก็เลยต้องหยุดงานไปก็จะเป็นสามีคนเดียวค่ะที่ไปทำงาน หนูอยู่บ้านเลี้ยงลูก ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบแล้ว ไม่มีคนเลี้ยงหนูเลยไม่ได้ทำงาน สามีเป็นรับรับจ้างทั่วไป ส่วนใหญ่ก็รับจ้างตามไซด์งานก่อสร้าง ถ้าได้งานรับจ้างจากผู้รับเหมาในแม่สอดจะได้ประมาณวันละ 250-300 บาท แต่ถ้ามีบริษัทรับเหมาจากข้างนอก รวมค่าทำงานล่วงเวลาบางทีก็ได้ถึงวันละ 500 บาทเลยค่ะ ถ้ามีงานรับจ้างเงินดีๆหนูก็จะไปรับจ้างแล้วก็เอาเงินค่าจ้างมาจ้างคนเลี้ยงลูกค่ะ วันละ 100 บาท แต่ตอนนี้ไม่ได้สักบาทเพราะสามีหางานไม่ได้เลย ไม่มีใครมาจ้าง” ตาลเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอในสถานการณ์โควิด . “ตอนนี้ก็ขายของที่มีอยู่ให้ได้เงินก่อนค่ะ อะไรขายได้ก็จะขายหมดเลย พอขายทองไปมองดูแล้วก็ไม่เหลืออะไรให้ขายได้อีกแล้วค่ะ ก็ถ้า 2 เดือนหลังจากนี้งานยังไม่มีเราก็ต้องวางแผนชีวิตกันใหม่หมดเลย ตอนนี้กินอยู่ประหยัดที่สุดเลยค่ะ อะไรกินได้ก็ได้ อะไรประหยัดได้เราก็จะประหยัดค่ะ”ตาลกล่าว . เมื่อถามถึงสิ่งที่ตาลและครอบครัวต้องการมากที่สุดในตอนนี้คืออะไร ตาลบอกว่า “ตอนนี้อยากให้มีงานทำค่ะ อยากให้มีงานให้หนูทั้งคู่ค่ะ คือก็เข้าใจนะคะว่าสถานการณ์แบบนี้งานก็คงน้อย แต่ถ้าหลังจากนี้อะไรมันดีขึ้น อยากให้สามีมีงานทำมีคนมาจ้างไปทำงานเยอะๆค่ะ เราไม่ได้ต้องการเงินเยียวยาอะไรเลยนะคะ แค่ให้เรามีงานทำที่เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ก็ได้ก็พอแล้วค่ะ”ตาลระบุ . “อ้อแล้วก็อีกเรื่องที่หนูกังวลก็คือแฟนหนูป่วยมานานแล้วเขาเป็นโรคเก้าต์ค่ะ พออากาศเปลี่ยนเขาจะปวดตามข้อกระดูกมาก ตอนนี้หนูก็ภาวนาอย่าให้เขาเป็นอะไรมากหรืออย่าให้โรคของเขากำเริบขึ้นมา เพราะถ้ากำเริบขึ้นมาตอนนี้เราไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนพาเขาไปหาหมอค่ะ สามีเคยไปรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอดแต่ไม่หาย จริงๆที่ผ่านมาเวลาเขาเจ็บปวดจากโรคประจำตัวการหาหมอสำหรับพวกเราก็ยากมากเลยค่ะ”ตาลกล่าว . เมื่อถูกถามถึงการกลับไปประเทศเมียนมาตาลบอกกับพวกเราว่า “หนูกับสามีมาอยู่ที่ประเทศไทยได้ 20 ปีแล้วค่ะที่ประเทศไทยก็เป็นเหมือนบ้านของพวกเราเลย ที่นู่นเราไม่มีอะไรไม่เหลือใครแล้ว กลับไปก็ เหมือนไปนับ 0 ใหม่ ในที่ที่เราไม่มีใครเลย พวกเราอยากอยู่ที่ประเทศไทย ทำงานที่นี่ไปตลอดเลยค่ะ”ตาลกล่าวทิ้งท้าย . ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้จัดทำข้อเสนอให้กรมการจัดหางานพิจารณาปรับเงื่อนไขในการใช้งบกองทุนเพื่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ทั้งในส่วนของการดำเนินการของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว และการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้การรองรับช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง หรือการปิดกิจการ ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ อันเกิดจากสถานการณ์โรคโควิด-19 รวมทั้งเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการรองรับในกรณีแรงงานข้ามชาติที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำเอกสารการขออนุญาตทำงานที่กระทรวงแรงงานได้ขยายระยะเวลาในการดำเนินการออกไปจนถึง 30 พฤศจิกายน ให้ยังสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพ และซื้อประกันสุขภาพระหว่างรอขั้นตอนการตรวจสุขภาพ ทั้งนี้รัฐบาลไทยควรมาตรการในการสำรวจและจัดให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติในกรณีประสบปัญหาการถูกเลิกจ้างและไม่มีงานทำอย่างเร่งด่วน และมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง