Skip to main content

“เมื่อก่อนเราซื้อไข่ 4 ใบ กินกัน 2 คนคนละ 2 ฟองต่อวัน แต่พอโควิดระบาดไข่ 1 ลูกเราแบ่งกันกินคนละครึ่ง มันก็ไม่อิ่มนะครับ แต่เราก็ต้องกินเท่าที่เรามีก็ต้องอยู่ต้องเอาตัวรอดในตอนนี้ให้ได้ครับ” ทู เด็กหนุ่มแรงงานชาวเมียนมาบอกเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ในชีวิตของเขาและภรรยาในตอนนี้ . ทูเข้ามาทำในประเทศได้หกปี โดยยึดอาชีพแรงงานรับจ้างเข็นผัก จัดร้านและเฝ้าหน้าร้านให้กับแผงผักแห่งหนึ่งในตลาดแม่สอด หกปีแห่งการต่อสู้ สุขและทุกข์บ้างแต่ทูและภรรยาก็เอาตัวรอดและผ่านมันมาได้ทุกครั้ง . “งานที่ผมทำอยู่ผมก็ทำทุกอย่างเลยครับทั้งเข็นผัก จัดของจัดผัก จัดหน้าร้าน ช่วยขายของ ก็ตอนที่ยังไม่มีการระบาดของโรคโควิดผมก็ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือนครับ นายจ้างเขาให้ผมเดือนละ 7,000 บาท แล้วผมก็เอามาแบ่งเป็นค่าห้อง 1,300 บาท แล้วก็ส่งไปให้แม่ที่บ้านอีก 4,000 บาทครับ ส่วนที่เหลือก็ใช้เป็นค่าอาหาร ค่ายาเวลาเจ็บหรือป่วยของผมกับแฟนครับ แม่ผมที่อยู่ที่บ้านก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม ผมต้องส่งเงินไปให้แม่ใช้รักษาตัวทุกเดือนเลยครับ” ทูแจกแจงถึงรายได้ที่เขาได้รับและค่าใช้จ่ายที่เขาต้องจ่ายในทุกๆ เดือน . “ตอนที่โควิดระบาดแล้วเขาเริ่มคุมเข้มกัน ที่ตลาดที่แม่สอดเขาก็ปิดไป 2 อาทิตย์เลยครับ ก็คือ 2 อาทิตย์ที่ปิดไปผมก็ไม่มีรายได้เลยครับ แล้วก็กังวลมากเลยว่าถ้าปิดยาวไปเรื่อยๆ แบบนี้ผมจะเป็นยังไง แล้วนายจ้างเขาเปลี่ยนจากรายเดือนเป็นรายวันแบบนี้ วันที่ตลาดปิดผมก็ไม่มีรายได้สักบาทเลย เงินจะกินในแต่ละวันยังไม่พอเลยครับไม่ต้องพูดถึงเงินเก็บเลยครับเราไม่มีเก็บกันสักบาทเลยมีแต่พอกินไปแต่ละวันเองครับ” ทูบอกเล่าถึงความกังวลของเขา “ตอนช่วงที่ตลาดปิดแล้วนายจ้างเขาเปลี่ยนมาจ่ายค่าแรงให้ผมเป็นรายวัน พอไม่มีงานเขาก็ให้ผมเบิกเงินล่วงหน้ามาใช้ 1,000 บาทครับเพราะผมไม่มีเงินเลย แล้วตอนนี้ตลาดเปิดเขาก็ให้ผมไปทำงานใช้หนี้เขาก็จะหักจากค่าแรงไปวันละ 100 บาท ค่าแรงผมที่เขาคิดให้เป็นวัน วันละ 240 บาท นายจ้างหักไป 100 บาทก็เท่ากับผมได้ค่าแรงวันละ 140 บาท ตอนนี้นายจ้างหักหนี้ได้วันที่ 5 แล้วครับ ยังเหลืออีก 5 วัน กว่าหนี้จะหมด แล้วนี่แฟนก็มาป่วยอีก ก็ทำได้แต่ซื้อยาให้กินไม่มีเงินจะพาเขาไปหาหมอเลยครับ จะไปรักษาที่แม่ตาวคลินิกก็กลัวเจอตำรวจระหว่างทางเลยไม่กล้าไป”ทูกล่าว เมื่อถูกถามถึงความฝันทูบอกกับเราว่า “ผมมาอยู่ที่ประเทศไทย 6 ปี ผมรักประเทศไทยมากเลยครับและอยากอยู่ที่นี่ตลอด ที่ประเทศของผมไม่มีงานที่จะทำให้ผมดูแลคนทั้งครอบครัวได้เลยครับ แต่ถ้าผมอยู่ที่นี่ผมยังมีช่องทางในการหาเงินได้ครับ ความฝันของผมคือผมอยากมีร้านเล็กๆ เป็นกิจการของตัวเองที่จะใช้เลี้ยงดูครอบครัวได้ครับ” ทูบอกเล่าให้เราฟังด้วยเสียงที่มีความหวัง . “ผมรู้ครับว่าความลำบากของผมมันยังเทียบกับเพื่อนๆแรงงานคนอื่นๆไม่ได้ บางคนเขาไม่มีงานทำเลยครับ งานของเขาถูกยกเลิก หรือถูกเลิกจ้างกะทันกันหันเลย ของผมตอนนี้ตลาดก็กลับมาเปิดแล้ว และถึงแม้สถานะของการจ้างงานของผมจะเปลี่ยนไปเป็นแบบรายวันก็ไม่เป็นไรครับ ถ้าจะมีการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจริงๆ เขาจะไปช่วยคนอื่นที่เดือดร้อนมากกว่าผม ผมก็ไม่เป็นไรเลยครับ ยินดีมากๆเลยครับ” ทูกล่าวทิ้งท้าย . ทูเป็นอดีตแรงงานข้ามชาติที่ถือบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) แต่ต่อมาบัตรหมดอายุไปได้สองปีแล้ว โดยที่ไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตทำงานเนื่องจากนายจ้างไม่ได้ดำเนินการต่อให้ ทำให้ปัจจุบันทูใช้เอกสารหนังสือข้ามแดนที่อนุญาตให้ทูอาศัยอยู่ในเทศเทศบาลแม่สอดได้ภายในกำหนด7 วัน แต่นับตั้งมีการปิดด่านชายแดน ทูก็ไม่สามารถเดินทางข้ามชายแดนไปทำเอกสารใหม่ได้ ทำให้ตอนนี้ทูต้องอยู่ในสถานะอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย . อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่พรมแดนรอยต่อกับเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ประชากรฝั่งเมืองเมียวดีมักจะใช้เอกสารผ่านแดนลักษณะไปเช้าเย็นกลับ หรือแบบราย 7 วัน เพื่อเดินทางเข้ามากกกทำกิจธุรหรือจับจ่ายซื้อของที่อำเภอแม่สอดจำนวนมาก ซึ่งเอกสารประเภทไม่สามารถขอใบอนุญาตทำงานได้ . ปัจจุบันพื้นที่ชายแดนหลายพื้นที่สามารถจ้างแรงงานข้ามชาติในลักษณะการทำงานแบบไปกลับหรือถามฤดูกาลได้ โดยจะได้รับใบอนุญาตทำงานครั้งละไม่เกิน 90 วัน และจะต้องดำเนินการประทับตราเข้าออกทุก 30 วัน โดยเงื่อนไขของขออนุญาตทำงานก็คือ แรงงานข้ามชาติจะต้องมีบัตรผ่านแดน ซึ่งจะทำได้เฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ชายแดนเท่านั้น ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการได้ หรือมีการแสวงหาประโยชน์จากการรับนำแรงงานข้ามชาติเข้าทะเบียนบ้านในพื้นที่ชายแดนของประเทศต้นทาง ขณะเดียวกันนายจ้างในพื้นที่ชายแดนจำนวนมากก็มีความประสงค์จะจ้างงานในลักษณะดังกล่าว ส่วนหนึ่งเพื่อลดต้นทุนในเรื่องการทำเอกสาร และการจัดสวัสดิการแรงงานในรูปแบบของประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติยังมีความมั่นคงในการจ้างงานต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉินดังเช่นปัจจุบัน . ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติได้จัดทำข้อเสนอให้มีการพิจารณาผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ ที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวจนกว่าด่านชายแดนจะเปิดตามปรกติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น และเพื่อทำให้ทุกคนสามารถจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสำหรับการดำรงชีวิตให้ปลอดภัยจากโรคระบาดในครั้งนี้ รวมทั้งได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณามาตรการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการที่ชัดเจนว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร สัญชาติอะไร มีประกันสุขภาพหรือไม่ จะต้องเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขทั้งในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล