Skip to main content

1 พฤษภาคม 2563

เรื่อง  ข้อเสนอต่อการบังคับใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 8 เมษายน และวันที่ 23 เมษายน 2563

เรียน  ผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

สำเนาถึง

1. นายกรัฐมนตรี

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

 

ตามที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศ เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 ในข้อที่ 2 ระบุว่า “คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภท การตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา Visa on Arrival) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30/ผผ.14/ผผ.30/ผผ.90) ซึ่งกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรจะสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

  • ให้ขยายระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรไป ตามมาตรา 35 หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ไปพลางก่อน  ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึง วันที่ 30 เมษายน 2563
  • ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งที่อยู่อาศัย ตามมาตรา 37 (5) หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง สำหรับคนต่างด้าวที่ครบกำหนดระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึง วันที่ 30 เมษายน 2563

ต่อมา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศวันที่ 23 เมษายน 2563 ขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวสามารถอยู่ต่อในราชอาณาจักรไปพลางก่อน และ ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เห็นว่า มาตรการของรัฐดังกล่าวนี้สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานข้ามชาติรวมทั้งนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังสับสนต่อมาตรการดังกล่าวว่าได้รับการผ่อนปรนตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ทั้งสองฉบับนี้หรือไม่ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และมีหน้าที่ต้องแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 37 แห่งพรบ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งแม้จะมีการออกประกาศฯทั้งสองฉบับออกมา แต่หน่วยงานภาคปฏิบัติ ยังมีความเห็นให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) ยังคงต้องไปรายงานตัวตามมาตรา 37 ต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เช่น ที่ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า มีแรงงานจำนวนมากต้องเดินทางไปรายงานตัว 90 วัน ซึ่งยัง ไม่สอดคล้องกับแนวทางของประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้งสองฉบับ ที่ต้องการแก้ไขความแออัด เบียดเสียดใกล้ชิดกันของบรรดาคนต่างด้าว ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ก่อให้เกิดความความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ออกไปในวงกว้าง ไม่สอดคล้องตามมาตรการและแนวทางการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อีกจำนวนกว่า 555,993 คน ที่นายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name List) ต่อกระทรวงแรงงาน ภายใน 31 มีนาคม 2563 แต่ไม่สามารถขอตรวจอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนดเวลา รวมถึงผู้ติดตาม คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึง 30 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งการผ่อนผันให้อยู่ราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวดังกล่าว ไม่มีความชัดเจนว่าแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ต้องเดินทางไปรายงานตัวตามพรบ.คนเข้าเมืองมาตรา 37 ด้วยหรือไม่

จากสภาพความไม่ชัดเจนระหว่างการออกประกาศฯ กับการบังคับใช้ซึ่งมีผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทชั่วคราว หรือได้รับผ่อนให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว ตามมติครม.วันที่ 15 เมษายน 2563 ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอมายังท่านในการ ออกหนังสือเวียน ไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ ในการทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ต่อคนต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว และการแจ้งที่พักอาศัยของคนต่างด้าว ตามพรบ.คนเข้าเมือง มาตรา 37 อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างชาติเดินทางมาสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก่อให้เกิดความแออัดและเบียดเสียงของคน อันเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(นายอดิศร เกิดมงคล)

ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล์ [email protected]