Skip to main content
จากสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ตรงข้ามพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่ประกอบด้วยกองกำลังผสมจากกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารเมียนมาในพื้นที่รอบเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และสามารถเข้ายึดฐานที่มั่นของทหารเมียนมาได้อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่า อาจจะลุกลามจนทำให้เกิดการปิดด่านชายแดน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเดินทางและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งผู้ที่ต้องเดินทางในพื้นที่ชายแดน ทั้งนี้ในปัจจุบันแนวนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของกระทรวงแรงงาน มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เครือข่ายองค์กรด้านประขากรข้ามชาติ มีข้อเสนอต่อ รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานดังนี้ 1. กระทรวงแรงงานควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีนโยบายผ่อนผันขยายเวลาการดำเนินการออกไปก่อน โดยกำหนดให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติใช้หลักฐานเอกสารเดิม และแบบบัญชีรายชื่อที่ออกโดยสำนักงานจัดหางาน มายื่นขออนุญาตทำงาน เพื่อสามารถทำงานและอยู่อาศัยในประเทศไทยได้ไม่เกิน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 2. กระทรวงแรงงานควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติผ่อนผันให้แรงงาน MoU ครบ 4 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 ให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การได้รับอนุญาตให้ทำงานเดิมสิ้นสุด โดยใช้เอกสารหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงานเดิมมาเป็นหลักฐานในการยื่นขออนุญาตทำงาน 3. กระทรวงแรงงานควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการผ่อนผันให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ตามเงื่อนไขของการขออนุญาตทำงานตามมาตรา 64 ของพรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2567 ให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี และพิจารณาต่อได้อีกครั้งละ 1 ปีตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้มีการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติและยื่นขออนุญาตทำงานกับสำนักงานจัดหางานต่อไป ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ และเพื่อความปลอดภัยและแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรี และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จนกว่าสถานการณ์ในประเทศพม่าจะดีขึ้น